Last updated: 2019-07-08 | 8460 Views |
การนำสินค้าเข้า Modern Trade EP 4 : การทำบาร์โค้ดสินค้า ตอน 2
ระบบคลังสินค้า เป็นเรื่องที่โมเดิร์นเทรดให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากโมเดิร์นเทรดใด ที่มีชื่อเสียง และต้องรับสินค้าในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก ยิ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ระบบบาร์โค้ดจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อตรวจรับสินค้าและเช็คสต็อกสินค้า สำหรับในระบบคลังสินค้าจะใช้บาร์โค้ดสินค้าแบบ 14 หลัก เป็นหน่วยระบุขนาดบรรจุภัณฑ์หรือระบุ SKU ของสินค้า
SKU (Stock Keeping Unit) หมายถึง รายการสินค้าที่จำแนกเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในการจัดเก็บสินค้า สินค้า 1 รายการ อาจมีหลาย SKU เช่น ช็อกโกแล็ต 1 ซอง นับเป็น 1 SKU แต่ถ้าหากนำช็อกโกแล็ตชนิดเดียวกัน 3 ซองมาจัดเป็นแพ็ครวมกัน 1 แพ็ค ก็จะนับเป็นอีก 1 SKU
ซึ่ง SKU ทำให้สามารถแยกความแตกต่างของสินค้าแต่ละชิ้นได้ จึงมีการกำหนดรายการสินค้าเพื่อให้ง่ายและเข้าใจตรงกันทั้งระบบ ตั้งแต่ ผู้ผลิต ผู้จัดซื้อ จัดส่ง จนถึงผู้ขายปลีก ไม่ให้เกิดความสับสน และให้เกิดความพอเพียงต่อสต็อกสินค้าของคลังสินค้า ให้รองรับต่อการผลิต และการขายสินค้าอย่างต่อเนื่องและให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด (RMBA NIDA. 2560: ออนไลน์)
GTIN-14
GTIN-14 คือประเภทบาร์โค้ดที่ใช้ในสินค้าขายส่ง ใช้ระบุแทนขนาดหน่วยบรรจุภัณฑ์ โดยกำหนดให้ 1 บาร์โค้ดแทน 1 หน่วยขนาดบรรจุภัณฑ์ของสินค้า ซึ่งบาร์โค้ดระบุขนาดบรรจุที่นิยมใช้ในโมเดิร์นเทรด มีอยู่ 2 รูปแบบคือ GS1-128 และ ITF-14 ซึ่งเราจะอธิบายรายละเอียดบาร์โค้ดแบบ ITF-14 เพราะมีส่วนประกอบใกล้เคียงกับบาร์โค้ดแบบ EAN-13 ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเข้าใจและนำไปใช้งานได้ง่าย
GTIN-14 (ITF-14) มีองค์ประกอบ 4 ส่วนคือ
ส่วนที่ 1 : สัญลักษณ์แท่งบาร์โค้ดสำหรับอ่านด้วยเครื่องสแกนเนอร์
ส่วนที่ 2 : ตัวเลขหลักแรก แทนขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้า ที่กำหนดแทน SKU สินค้า
ส่วนที่ 3 : ตัวเลขบาร์โค้ด EAN-13 12 หลักแรกของสินค้า
ส่วนที่ 4 : ตัวเลขหลักสุดท้ายที่ได้จากการสร้างบาร์โค้ด เรียกว่า ตัวเลขตรวจสอบ (Check Digit)
*วิธีการตรวจสอบว่าบาร์โค้ดถูกต้องหรือไม่ ให้นำตัวเลขบาร์โค้ดสินค้า 12 หลักแรก มาคำนวณได้ที่
http://164.115.22.112/main/gs1standardsystem.php?id_view=20130519000057
ถ้าบาร์โค้ดถูกต้อง ระบบจะต้องแสดงตัวเลขตรวจสอบหลักสุดท้าย ตรงกับบาร์โค้ดบนสินค้า
วิธีการสร้างบาร์โค้ด ITF-14 แบบออนไลน์
1.เปิดเว็บเบราเซอร์สำหรับสร้างบาร์โค้ด เช่น online-barcode-generator.net , terryburton.co.uk , barcode.tec-it.com ซึ่งในที่นี้ยกตัวอย่างวิธีการทำด้วย online-barcode-generator.net เพราะว่าใช้งานสะดวก เข้าใจง่ายที่สุด
2.เลือกบาร์โค้ดประเภท “Interleaved 2 of 5” เพื่อสร้างบาร์โค้ด ITF-14
3.ใส่ตัวเลขหลักแรก แทนขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้า ตามด้วย ตัวเลขบาร์โค้ด EAN-13 12 หลักแรกของสินค้า
4.เลือก Include checksum
5.คลิกเลือก Create
6.ดาวน์โหลดบาร์โค้ดในรูปแบบไฟล์ EPS , PNG , PDF หรือ SVG
“บาร์โค้ด ITF-14” เป็นส่วนหนึ่งของระบบจัดการคลังสินค้าในโมเดิร์นเทรด ที่ช่วยให้การบริหารจัดการสินค้ามีความสะดวก รวดเร็ว แค่สแกนรหัสบาร์โค้ดของบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลก็จะบันทึกในระบบส่วนกลางว่ามีสินค้าเข้ามาจำนวนกี่ SKU และส่งออกไปช็อปสาขากี่ SKU เพราะใช้ระบบตัดยอดสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบข้อมูลสินค้าย้อนหลังและวางแผนบริหารสต็อกสินค้าได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจะเลือกนำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดที่ไหน ก็ควรทำความเข้าใจระบบคลังสินค้าของโมเดิร์นเทรดนั้นๆให้ดีเสียก่อน เพราะว่าแต่ละโมเดิร์นเทรด ก็จะมีข้อกำหนดและขั้นตอนปฏิบัติเป็นของตนเอง เช่น การเลือกใช้บาร์โค้ด และการบันทึกข้อมูลสินค้าเข้าระบบคลังสินค้า ทั้งนี้เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้ไม่สับสนกับระบบคลังสินค้าของโมเดิร์นเทรด สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจยื่นขอรหัสประจำตัวบริษัท อ่านต่อได้ที่ Barcode สำคัญอย่างไรในการประกอบธุรกิจ ?
Mar 17, 2021
Apr 16, 2021
Mar 30, 2021
Sep 14, 2020